เครียดแล้วจะดีได้ยังไง!
ความเครียดขโมยพลังงานและเวลาไปจากชีวิตคนส่วนใหญ่ในยุคนี้ แถมยังเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจ
ทำไมความเครียดถึงไม่ได้แย่อย่างที่เคยเข้าใจมา
คนทั่วไปมักมองความเครียดเป็นผู้ร้าย ไม่อยากเครียด แต่ร่างกายต้องการความเครียดในระดับที่เหมาะสม เพราะความเครียดมีด้านที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ การใช้ชีวิต และการทำงาน
หากเรามองเห็นความเครียดแต่ในด้านลบ จะยิ่งทำให้จัดการความเครียดได้ยากยิ่งขึ้น
ความเชื่อต่อความเครียดสามารถทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ผ่านการตอบสนองของร่างกายที่แตกต่างกัน
เนื่องจากสมองมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ (neuroplasticity) การเปิดรับและทำความเข้าใจประสบการณ์ทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายเวลาเผชิญสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด ผ่านการจับสัญญาณความเครียดที่ร่างกายส่งออกมา จะช่วยให้ความเครียดอยู่ในขอบเขตที่รับมือได้ง่าย ทำให้วงจรความรู้สึกของร่างกายเกิดการไหลเวียนตามธรรมชาติ
เหตุการณ์ที่เพิ่มระดับความเครียดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วย
เพิ่มสมาธิจดจ่อ มีไฟในการผลักดันเป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จ
กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่วยให้ความจำทำงานได้ดี
ช่วยให้เราเชื่อมโยงพูดคุยกับคนรอบข้าง
ทำให้มีความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) ต่อความท้าทายในชีวิต
ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานเป็นปกติ
มีส่วนช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกาย
แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากความเครียดที่เกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างไร?
ร่างกายและระบบประสาทมีความฉลาด สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตผ่านความรู้สึกต่างๆที่ร่างกายส่งสัญญาณบอกเรา เช่น ปากแห้ง หน้าร้อนวูบวาบ หัวหนัก หูอื้อ ใจเต้นเร็ว จุกคอ หนักอก หายใจเร็ว โหวงๆที่ท้อง มือเท้าเย็น เหงื่อซึม
ยิ่งเรารับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายได้บ่อยเท่าไหร่ เราจะยิ่งสามารถใช้ประโยชน์จากความเครียดได้เพิ่มขึ้น เพราะทุกครั้งที่สามารถรับรู้ความรู้สึกเวลาร่างกายเครียด เหมือนเราได้กดปุ่มรีเซ็ทให้สมองและร่างกายได้กลับมารู้สึกผ่อนคลาย และทำให้เกิดวงจรการตอบสนองความเครียดในสมองรูปแบบใหม่ขึ้นมา
สมองของเราก็จะเริ่มเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดด้วยวิธีใหม่ๆ เกิดมุมมองใหม่ๆในการแก้ปัญหา
เมื่ออ่านร่างกายตัวเองออก รู้ขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง สามารถจับสัญญาณความเครียดได้ทันในระดับที่จัดการได้ รู้จักให้เวลาร่างกายได้พักเบรค เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากความเครียดได้อย่างสมดุล
ระดับความเครียดที่ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป จะช่วยให้ชีวิตไหลลื่น จังหวะชีวิตสมดุล ไม่มีสะดุด ด้วย “Good Stress”
วาดภาพประกอบบทความนี้โดย cat on a paper
留言