top of page

ความกลัว 6 สิ่งของคนทำงาน

Updated: May 12, 2022

สมองของมนุษย์มีแนวโน้มตอบสนองต่อภัยอันตราย ที่สมองตีความว่าจะทำให้ตัวเรา “รอด-ไม่รอด” ผ่าน “ความกลัว” โดยทั่วไป การทำงานในองค์กร มักพบความกลัว 6 อย่าง ได้แก่

  • กลัวความล้มเหลว (Failure) กลัวว่าจะทำได้ไม่ดี กลัวทำผิด กลัวคนอื่นจะรู้ว่าในทีมที่ดูแลมีปัญหาอยู่ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในการทำงานเพิ่มขึ้น ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ รู้สึกว่างานยากขึ้น ทำงานที่ไม่มีความจำเป็น ปิดบังปัญหาที่เกิดขึ้นในทีม

  • กลัวความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน สิ่งที่คาดเดาได้ยาก (Uncertainty)

  • กลัวไม่ได้รับความยุติธรรม (Fairness)

  • กลัวขาดทางเลือก ขาดอิสระในการทำงาน (Autonomy)

  • กลัวสูญเสียความสัมพันธ์ (Relation)

  • กลัวไม่ได้รับการยอมรับ ไร้คุณค่า (Status) กลัวดูไม่ดีในสายตาคนอื่น กลัวว่าตัวเองจะมีปัญหาอยู่คนเดียว

ประสบการณ์ในอดีตมีผลต่อการทำงานของสมองในปัจจุบันได้อย่างไร?


เมื่อสมองตรวจจับว่ามีอันตรายเกิดขึ้น สมองส่วนอารมณ์จะตัดสินใจและเข้าสั่งการแทนสมองส่วนเหตุผลโดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดการตอบสนองผ่านสัญชาตญาณการเอาตัวรอด (Fight-Flight-Freeze Response) และเป็นที่มาของจุดบอดทางพฤติกรรมที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเกิดจากการโต้ตอบไปตามประสบการณ์ในอดีตที่เคยได้ซึมซับมา


ในสมองมนุษย์วงจรการตอบสนองต่อภัยอันตรายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นโดยไม่สมบูรณ์ ด้วยสาเหตุหลายประการ ทำให้สมองหลงเชื่อว่าอันตรายทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นยังคงเกิดขึ้นอยู่ แม้สิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดความกลัวได้ผ่านไปแล้ว เช่น ถ้าเราเคยเกิดความรู้สึกตื่นเต้น จนพูดตะกุกตะกัก มือไม้สั่น เหงื่อแตกอยู่หน้าห้องตอนเด็ก จนทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจในการพูดต่อหน้าคนเป็นจำนวนมาก พอโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าต้องไปนำเสนองานในที่ประชุมกับผู้บริหาร เราอาจรู้สึกกระวนกระวายนอนไม่หลับในคืนก่อนไปนำเสนองาน พอถึงเวลานำเสนอก็รู้สึกประหม่า ไม่กล้าสบตาคน พูดเสียงสั่น ลืมเรื่องที่จะพูด ทำให้คนฟังขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราพูด แม้ข้อมูลมีคุณภาพ


วิธีคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) เกิดขึ้นจากอะไร?


ถ้าเราเคยชินกับการเผชิญความกลัวหรือตอบสนองต่อความท้าทายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยการตอบสนองผ่านสัญชาตญาณการเอาตัวรอด โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าตัวเราอยู่ในภาวะตึงเครียด รู้สึกไม่ปลอดภัย การตีความของเราก็จะอยู่ภายใต้ชุดความคิดเดิมๆ วิธีการเดิมๆ เกิดความคิดยึดติด มองเห็นภาพใหญ่ของเหตุการณ์ได้ยาก


เกิดอะไรขึ้นเมื่อปล่อยให้สมองอยู่ในภาวะเสียสมดุลนานๆ?


หากการตอบสนองล่วงหน้าต่อความกลัวของสมอง ไม่ได้รับการอัพเกรด อาจทำให้กลายเป็นความเครียดเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว เพราะสมองอยู่ในโหมดที่ต้องคอยระวังภัยอันตรายอย่างต่อเนื่อง สมองจะถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย แถมสมองยังกลับคืนสู่สภาวะผ่อนคลายได้ยาก ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานค้างอยู่ในโหมด Fight-Flight-Freeze ดังรูปที่ 1



รูปที่ 1 การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติเมื่อสมองอยู่ในโหมดผ่อนคลายและตึงเครียด


โดยแสดงออกผ่านอาการเล็กน้อย เช่น การคิดวน ย้ำคิดย้ำทำ ดื้อเงียบ กังวลหรือหงุดหงิดง่าย ยอมแพ้อะไรง่ายๆเมื่อเจออุปสรรค ไม่เปิดรับคำวิจารณ์เชิงลบ ไปจนถึงส่งผลเสียต่อสมดุลของร่างกายและจิตใจ เช่น หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นกลางดึก ไมเกรน รู้สึกหมดไฟ ระบบทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานแปรปรวน


ถ้าอยากหลุดพ้นจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ควรทำความเข้าใจและฝึกปฎิบัติในเรื่องอะไร?


ความตึงเครียดและสัญชาตญาณการเอาตัวรอดเป็นเรื่องธรรมชาติ หากยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์และการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ก็จะสามารถพัฒนาได้เร็วขึ้น


การตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งเร้าในชีวิตที่กระตุ้นให้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดทำงาน และการเฝ้าสังเกตประสบการณ์ภายในผ่านการรับรู้ความรู้สึกทางร่างกายทั้งที่รู้สึกพึงพอใจและไม่พึงพอใจขณะเผชิญความกลัว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการหลุดพ้น


การพัฒนา Growth Mindset จากความรู้เนื้อรู้ตัว


การฝึกปฏิบัติให้ความรู้เนื้อรู้ตัว (Body Awareness) มีความฟิต สติก็จะมีกำลังอย่างต่อเนื่อง รู้จักเลือกวิธีรับมือและจัดการอารมณ์ได้ถูกทาง ช่วยให้สมองอยู่ในโหมดการเรียนรู้ เกิดกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมเปิดรับความท้าทายใหม่ๆ


ทำไมต้อง Body Awareness?


ยิ่งเรามีประสบการณ์ของความตระหนักรู้ในร่างกายเพิ่มขึ้น หมั่นฝึกปฏิบัติ เราจะยิ่งลดการตอบสนองล่วงหน้าต่อสิ่งที่เรากลัว สมองไม่ต้องทำงานหนักหน่วงโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อความกลัวผ่านไปแล้ว สมองของเราก็จะกลับคืนสู่สภาวะผ่อนคลายได้โดยง่าย เปิดโอกาสให้สมองของเรากลับมาสู่โหมดการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล สามารถเลือกตอบสนองต่อความท้าทายในชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้เรารู้สึกมั่นใจต่อการเผชิญความท้าทาย รวมทั้งยังทำให้เราอยู่ในสุขภาวะทางกายและอารมณ์ที่สมดุล


ผลดีอีกด้านของการฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวคือ การช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่เรามีต่ออารมณ์ของตัวเองในภาวะตึงเครียด เมื่อตัวเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับอารมณ์ของตัวเอง ตัวเราก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอารมณ์ของคนรอบตัว สามารถทำงานร่วมกับคนที่มีสไตล์แตกต่างจากตัวเราด้วยแนวทางใหม่ๆ เพราะการที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราเชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกในร่างกายของเรา จะช่วยเป็นต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราใช้ในการเชื่อมโยงกับอารมณ์ของคนอื่นได้ เช่น เมื่อเราโมโห ตัวเราสามารถตระหนักรู้ได้ว่า รู้สึกหัวร้อน จากที่เมื่อก่อนไม่รู้ตัว และสามารถพาตัวเองสู่สภาวะผ่อนคลายได้โดยง่าย ตัวเราก็จะสามารถรับมือและยอมรับระดับของอารมณ์โกรธที่แตกต่างกันของคนรอบตัวได้ ไม่ปล่อยให้อารมณ์โกรธเข้ามาควบคุมการสื่อสารของเรา


277 views0 comments

Comments


bottom of page